top of page

ภาพร่างงานจิตรกรรมฝาผนัง

ผนังที่ ๑/๔ ด้านตรงข้ามพระประธาน

 ภาพจิตรกรรมเรื่อง พระปฐมบรมราชโองการ

"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

ด้านซ้าย ภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ (รัชกาลที่ ๙) ทรงผนวช ในพระบวรพุทธศาสนาทรงแสวงโมกขธรรมภายใต้ต้นโพธิ์ทอง มีเทพยาดาร่วมแสดงความปิติยินดีอยู่รายรอบ สื่อถึง ความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ

ด้านขวา ภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ (รัชกาลที่ ๙) เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติมีพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรปักที่พระแท่นราชอาสน์ราชบัลลังก์มีเทพยดาร่ายรำร่วมแสดงความยินดีอยู่รอบๆ สื่อถึงการปกครองแผ่นดินโดยธรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ทรงมีทศพิธราชธรรมต่อการปกครองประชาชนของพระองค์

ขอบประตูวิหาร  เป็นภาพของต้นมะม่วง ๒ ต้น  เพื่อโยงเข้าสู่บทพระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เรื่อง “พระมหาชนก” โดยต้นหนึ่งมีผลงอกงามสมบูรณ์เป็นที่หมายปองของทุกคนจนถูกเก็บผลจนหมดและถูกโค่นต้นล้มลง อีกต้นหนึ่งไม่มีผลออกแห้งเหี่ยวจึงไม่เป็นที่หมายปองทำให้ต้นยังคงอยู่ต่อไป แสดงถึงสิ่งที่ดีมีคุณภาพมักจะเป็นเป้าหมายของการยื้อแย่งและจะเป็นอันตรายในท่ามกลางผู้ที่ขาดปัญญา สื่อถึงสังคมปัจจุบันความเจริญทางวัตถุนิยมทำให้คนในสังคมขาดคุณธรรมมากขึ้น

ดอกไม้ร่วง แสดงถึง การต้อนรับสิ่งที่ดีๆ สิ่งที่มีความสำคัญ โดยเหล่าเทวดานางฟ้าจะโปรยดอกไม้ทิพย์ลงมา

ด้านล่างประกอบด้วย ภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์

ผนังที่ ๒/๔ ด้านหลังพระประธาน 

ภาพจิตรกรรม ไตรภูมิจักรวาลและอดีตพระพุทธเจ้า

ภาพวงกลมตรงกลางแสดงถึง ความเชื่อเรื่องของไตรภูมิจักรวาลตามแนวความคิดทางพุทธศาสนา มีสัณฐานกลม ประกอบด้วย เขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางจักรวาล บนเขาพระสุเมรุเป็นที่ตั้งของดาวดึงส์สวรรค์มีพระอินทร์ปกครอง กึ่งกลางเขาพระสุเมรุมีพระราหู เขาพระสุเมรุถูกล้อมรอบเป็นรูปวงแหวนด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์ทั้งเจ็ดมีความสูงลดหลั่นระดับลงตามลำดับ ระหว่างเขามีสีทันดรมหาสมุทรคั่นอยู่ นอกเขาสัตตบริภัณฑ์เป็นมหาสมุทรไปจนสุดขอบจักรวาล ภายในมหาสมุทรจักรวาลมีทวีปในทิศทั้งสี่ และมีจักรวาลนับไม่ถ้วน พื้นที่ว่างระหว่างจักรวาลเป็นที่อยู่ของโลกันตนรก ภายจักรวาลแต่ละแห่งมีพระอาทิตย์และพระจันทร์ให้แสงสว่างและโคจรรอบกึ่งกลางของเขาพระสุเมรุ รายรอบของจักรวาลมีปราสาทแสดงถึงชั้นของ สวรรค์ พรหมและอรูปพรหมตามลำดับ

ด้านล่างใช้เป็นภาพเรือสื่อถึง เรือของพระมหาชนกที่ออกเดินทางไปค้าขาย จนพบอุปสรรคและบรรลุความเพียรในที่สุด อีกความหมายหนึ่งคือ เรือเปรียบกับพระธรรม คำสอนของพระพุทธองค์ที่นำมนุษย์สู่ฝั่งแดนนิพพาน การวางองค์ประกอบของภาพธรรมจักรไว้ตรงกลางเหนือจักรวาลเพื่อเน้นคำสอนของพระพุทธองค์ที่ปรารถนาให้สรรพสัตว์ได้บรรลุธรรมสู่มรรคผลนิพพานในที่สุด

ภาพด้านข้าง เป็นภาพอดีตของพระพุทธเจ้าในอดีตชาตินั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว เหนือพระเศียรมีต้นไม้ตรัสรู้ประจำพระองค์ นั่งขนาบข้างฝั่งละ ๑๔ พระองค์ โดยมีรูปพระพุทธเจ้าขนาดใหญ่ตรงกลางและพระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์ แสดงถึงพระพุทธเจ้าในภัทรกัปนี้ ให้สอดคล้องสัมพันธ์กับพระประธานในวิหาร

ผนังที่ ๓/๔ ด้านซ้ายมือพระประธาน 

ภาพจิตรกรรม “พระมหาชนก” ในตอน บุคคลเปรียบเทียบกับน้ำ ๗ จำพวก (ช่วงแรก)

ภาพตอนเหตุการณ์ เรือกำลังล่มเพราะกำลังคลื่นที่ร้ายกาจ ไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ แผ่นกระดานก็แตกด้วยกำลังคลื่นน้ำเข้ามาแต่ที่นั่น เรือก็จมลงในกลางมหาสมุทร มหาชนกลัวมรณภัย ร้องไห้คร่ำครวญ กราบไหว้เทวดาทั้งหลาย แต่พระมหาชนก ไม่ทรงกันแสง ไม่ทรงคร่ำครวญ ไม่ไหว้เทวดาทั้งหลาย พระองค์ทรงทราบว่า เรือจะจม จึงคลุกน้ำตาลกรวดกับเนย เสวยจนเต็มท้องแล้วชุบผ้าเนื้อเกลี้ยงสองผืนด้วยน้ำมันจนชุ่ม ทรงนุ่งให้มั่น ทรงยืนเกาะเสากระโดง ขึ้นยอดเสากระโดงเวลาเรือจม มหาชนเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า น้ำโดยรอบตัวมีสีเหมือนโลหิต พระมหาสัตว์เสด็จไปทรงยืนที่ยอดเสากระโดง ทรงกำหนดทิศว่า  เมืองมิถิลาอยู่ทิศนี้ ก็กระโดดจากยอดเสากระโดง ทรงว่ายน้ำรอดพ้น ฝูงปลาและเต่าไปในที่สุด บ่งบอกถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ให้ถึงจุดหมาย ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค

ผนังที่ ๔/๔ ด้านขวามือพระประธาน 

ภาพจิตรกรรม “พระมหาชนก” ในตอน บุคคลเปรียบเทียบกับน้ำ ๗ จำพวก (ช่วงท้าย)

     ภาพตอนเหตุการณ์ตอนเหตุการณ์ตอนพระมหาชนกทรงว่ายน้ำขึ้นฝั่ง อันเปรียบเทียบบุคคลกับน้ำ ๗ จำพวก โดยในช่วงท้ายได้เปรียบเทียบการว่ายน้ำใกล้ขึ้นถึงฝั่งของพระมหาชนกกับอริยะบุคคล ดังนี้

พระโสดาบัน (ผู้แรกถึงกระแสธรรม) หมายถึงโผล่ขึ้นแล้ว เห็นแจ่มแจ้ง เหลียวดู

พระสกทาคามี (ผู้มาสู่กามภาพอีกครั้งเดียว) หมายถึงโผล่ขึ้นแล้ว ว่ายเข้าหาฝั่ง

พระอนาคามี (ผู้ไม่มาสู่กามภพอีก) หมายถึง โผล่ขึ้นแล้ว ไปถึงที่ตื้น หยั่งพื้นทะเลได้ และ

พระอรหันต์ (ผู้ทำให้แจงเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ) หมายถึง โผล่ขึ้นแล้ว ข้ามฝั่งได้ ยืนอยู่บนบก

  อนึ่งเรื่องราวในพระมหาชนกได้สะท้อนถึงสภาวะของสังคมปัจจุบัน  การดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ท่ามกลางการแก่งแย่งแข่งขันทางเศรษฐกิจของสังคมเมือง การตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์มิได้หมายถึงความสิ้นหวัง หมดหนทาง แต่กลับกลายเป็นพลังอันแข็งแกร่ง ใช้ปัญญาพิจารณาที่จะต่อสู้ พัฒนาตนเองให้หลุดพ้นจากความทุกข์โศกทั้งหลาย อันเปรียบกับความเพียรพยายามว่ายน้ำในห้วงมหาสมุทรให้ถึงฝั่งของพระมหาชนก โดยไม่ย่อท้อ จนสำเร็จถึงฝั่งในที่สุด

bottom of page