top of page

    โครงการจัดสร้างพระพิมพ์บูชา (สำหรับประดิษฐานภายในฐานพระประธาน) จัดทำขึ้นโดยสำนักงานกองทุนพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เพื่อเป็นการสมทบทุนในการจัดสร้างพระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิตร ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ อำเภอแม่แตง  จังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งนำรายส่วนหนึ่งไปใช้ในการบูรณะวิหารวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์และจัดสร้างศาสนสถานต่างๆ

       พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ทรงตั้งพระทัยที่จะใช้ความรู้ ความสามารถ ที่ทรงศึกษามาปฏิบัติพระกรณียกิจเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และการทำนุบำรุงศิลปกรรมของชาติให้รุ่งเรือง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมสร้างกุศล เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่๙)

           ในการนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงมีพระประสงค์จะจัดสร้างพระพิมพ์บูชา (สำหรับประดิษฐานภายในฐานพระประธาน) เพื่อเปิดโอกาศให้ผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกุศลในครั้งนี้

โครงการจัดสร้างพระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต

(พระประธานประดิษฐานภายในพระวิหาร)

พระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต พระประธานภายในวิหาร

โครงการจัดสร้างพระพิมพ์บูชา

(สำหรับประดิษฐานภายในฐานพระประธาน)

                                                             พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์  มีพระดำริให้ดำเนิน

โครงการจัดสร้าง“พระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต”  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ต่อเนื่องจากโครงการบูรณะวิหารวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานภายในพระวิหาร โดยพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์  ขอพระราชทานนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ  (รัชกาลที่ ๙) ขอพระราชทานชื่อพระพุทธรูปที่จะทรงสร้างน้อมเกล้าฯ ถวาย พร้อมทั้งทรงสร้างเพื่อเป็นองค์พระประธาน ณ วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ ทั้งนี้ ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อพระพุทธรูปว่า

“พระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต”

พุทธลักษณะของพระประธาน

 พระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร (วัชรอาสน์) เกศบัวตูม แรงบันดาลใจได้จากรูปแบบพระเชียงแสน แบบสิงห์หนึ่ง ผสมผสานกับพุทธลักษณะศิลปะสมัยคุปตะของอินเดีย
ทวารวดี ศรีวิชัย และศิลปะแบบหริภุญชัย ลำพูน ประทับนั่งบนหงายบัวคว่ำ ปรากฏอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. บนกลีบบัว ในตำแหน่งผ้าทิพย์ เปรียบดังบัวกำลังผุด สื่อความหมายถึงการเจริญเติบโต เบิกบาน งูที่ปรากฏบนฐานมีความหมายเปรียบดังเรื่องราวของมารผจญในพุทธประวัติ มีพระแม่ธรณีบีบมวยผมอยู่ตรงกลาง เป็นแนวดิ่งเดียวกันกับองค์พระประธาน อักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.และนักษัตรปีเถาะ ซึ่งเป็นปีพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) โดยแทนความหมายของกาลเวลาและความเชื่อ ทั้งนี้ปฏิมากรต้องการออกแบบให้พระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต เป็นพระที่บ่งบอกถึงยุคสมัยในการสร้าง จึงมีความแตกต่างจากประเพณีนิยมที่เคยทำมา ส่วนฐานมีความสำคัญยิ่ง เพราะในอดีต มิเคยปรากฏการออกแบบในรูปแบบนี้มาก่อน แต่ละส่วนมีความหมายสัมพันธ์กัน ก่อเป็นเอกลักษณ์เฉพาะองค์สำหรับพระประธานวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ รายละเอียดเส้นริ้วจีวร สังฆาฏิ พริวไหว สื่อความหมายถึงความเมตตาปราณี นิ่มนวล อิ่มเอิบของพระพุทธองค์

      ด้านหลังปรากฏลายพระหัตถ์ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เป็นชื่อพระพุทธรูปว่า  “พระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต”

โดยมีความหมายว่า

พระพุทธปฏิมาที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ทรงสร้างขึ้น

bottom of page